การออกใบสำคัญประจำตัว ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 7, 9
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 2
  • กฎกระทรวง (พ.ศ.2493) ลง 12 ธันวาคม 2493 ข้อ 1, 4
  • กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2529) ลง 18 กุมภาพันธ์ 2529 ข้อ 4
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ตม.16)
  • หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ( ถ่ายสำเนาหน้าที่มีรูปถ่ายและประวัติส่วนตัว , หน้าการสลักหลังแจ้งออก 2 ครั้งสุดท้าย , ประวัติการเดินทาง 2 ครั้งสุดท้าย , หน้าที่มีการหมายเหตุ (ถ้ามี) )
  • เอกสารการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (ถ่ายสำเนาหน้าที่ 1-5 , สำเนาการสลักหลังแจ้งออก 2 ครั้งสุดท้าย , สำเนาประวัติการเดินทาง 2 ครั้งสุดท้าย )
  • รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 4 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 30 วัน
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ (ถ่ายเอกสารหน้าที่มีที่อยู่ , หน้าที่ปรากฎชื่อผู้ร้อง)
  • ใบอนุญาตทำงาน (ถ้ามี) ( ถ่ายสำเนาหน้า 2-7 , สำเนาหน้าต่ออายุครั้งสุดท้าย , สำเนาหน้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง , สำเนาหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือสถานที่ทำงาน )
  • คำร้อง ทต.1 หรือ ทต.3 แล้วแต่กรณี
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • ตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด วันเดือนปี ที่เดินทางเข้ามา เลขที่เอกสารที่อ้างอิง ว่าถูกต้องตรงกันและสมบูรณ์หรือไม่
  • ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดว่าเป็นบุคคลเดียวกันจริง และหลักฐานที่นำมาแสดงเป็นของตน
  • ให้คนต่างด้าวพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาในคำร้อง(ทต.1), ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและสำเนา ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว(ทต.9) ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เย็บติดอยู่กับเล่มเรียกว่า “ต้นขั้ว” และส่วนที่เป็นรอยปรุเรียกว่า “ปลายขั้ว” ส่วนที่เป็นต้นขั้วจะเก็บไว้ที่ท้องที่ที่เป็นผู้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และส่วนที่เป็นปลายขั้วให้ฉีกออกและจัดส่งไปให้ งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ตามระเบียบที่ ตร.กำหนดไว้
  • การกรอกข้อความในเอกสารการทะเบียนคนต่างด้าวต้องใช้แบบของราชการเท่านั้น เขียนด้วยตัวบรรจง อ่านง่าย และชัดเจน
  • ปิดรูปถ่ายในคำร้อง, ต้นขั้วฯ ปลายขั้วฯ และใบสำคัญฯ นายทะเบียนลงนามคาบต่อรูปถ่ายทั้ง 4 รูป (ห้ามลงนามทับที่บริเวณใบหน้าของคนต่างด้าว)

ข้อควรระวัง

  1. ก่อนส่งมอบใบสำคัญให้คนต่างด้าวรับไปต้องตรวจสอบว่าคนต่างด้าวลงชื่อในหน้า 1 แล้วหรือไม่ และพิมพ์ลายนิ้วมือครบทั้ง 4 แห่ง แล้วหรือไม่
  2. ได้จดหมายเลขเล่มสมุดด้วยหมึกสีแดงไว้ที่ด้านบนในคำร้อง ทต.1 หรือ ทต.3 แล้วแต่กรณี และของต้นขั้วสำเนากับปลายขั้วสำเนาแล้วหรือไม่
  3. ให้รีบส่งสำเนาปลายขั้วฯ ไปยัง งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ภายใน 7 วัน นับแต่วันออกใบสำคัญประจำตัว ตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะ 55 บทที่ 2
  4. การเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบสำคัญประจำตัวใหม่(ครั้งแรก) – ชนิดที่ 1(1 ปี) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 400 บาท – ชนิดที่ 2 (5 ปี) เรียกเก็บค่าธรรมเนียมปีแรง 400 บาท 4 ปี หลัง 800 บาท รวม 1,200 บาท (หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน) ระยะเวลา 5 ปี
  5. การต่ออายุใบสำคัญประจำตัวมี 2 ชนิดคือ ชนิดที่1 (1 ปี) เป็นเงิน 200.- บาท ชนิดที่ 2 (5 ปี) เป็นเงิน 800.- บาท
  6. แบบฟอร์มสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ต้นขั้วและปลายขั้ว) จะต้องใช้แบบของ พธ.ตร. โดยเบิก พธ.ตร. เท่านั้น ห้ามถ่ายเอกสารหรือพิมพ์ขึ้นเอง
  7. การปิดรูปถ่ายของคนต่างด้าวใน (สำเนา) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ต้นขั้วและปลายขั้ว) ให้ปิดที่มุมบนด้านขวา หรือมุมล่างด้านซ้าย หรือมุมล่างด้านขวาก็ได้ ไม่ควรปิดที่มุมบนด้านซ้ายเนื่องจากจะเกิดปัญหาด้านการจัดเก็บเอกสาร
การออกใบแทนใบสำคัญกรณีชำรุด สูญหาย ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 13
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 4
  • กฎกระทรวง (พ.ศ.2493) ลง 12 ธันวาคม 2493 ข้อ 7
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2529) ลง 18 กุมภาพันธ์ 2529 ข้อ 3
  •  
เอกสารประกอบ
  • เอกสารต้นเรื่อง (ต้นขั้วสำเนา , คำร้องขอรับใบสำคัญประจำตัวฯ)
  • รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวก ขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 4 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 30 วัน
  • คำร้อง ทต.7
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • ตรวจสอบหลักฐาน เทียบรูปถ่ายในเอกสารเดิมกับตัวบุคคล
  • ตรวจสอบรายการต่ออายุครั้งสุดท้าย
  • คัดลอกข้อความจากต้นขั้วสำเนาลงในใบสำคัญ
  • ติดรูปถ่ายในคำร้อง, ต้นขั้ว ใบสำคัญ, แห่งละ 1 รูป ส่วนรูปที่เหลือให้ส่งไปยัง กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เพื่อปิดในปลายขั้วฯ
  • บันทึกในหน้าว่างข้างหน้า 1 ด้วยหมึกสีแดงว่า “ออกใบสำคัญประจำตัวแทนฉบับเดิมที่ชำรุดหรือสูญหาย และได้เก็บค่าธรรมเนียมไว้ตามใบเสร็จรับเงิน เล่มที่… เลขที่… ลง…” แล้วนายทะเบียนลงนาม

ข้อควรระวัง

  1. กรณีไม่มีเอกสารต้นเรื่องอยู่ที่นายทะเบียนท้องที่ปัจจุบันให้ติดต่อขอหลักฐานจากนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่เดิมก่อนที่จะย้ายมา หากไล่เบี้ยจนถึงที่สุดแล้วไม่พบเอกสารต้นเรื่องให้เสนอ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 พิจารณาก่อน ห้ามเปลี่ยนใบสำคัญประจำตัวทั้ง ๆ ที่ไม่มีเอกสารต้นเรื่องก่อนได้รับอนุญาตจาก ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เป็นอันขาด
  2. กรณีใบสำคัญชำรุด ให้หมายความรวมถึงกรณีช่องติดรูปถ่ายครบทุกช่องแล้ว รายการเลอะเลือนเพราะเปียกน้ำหรือกรณีอื่นใด และรวมทั้งใบสำคัญขาดหายไปในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้วย
  3. ในกรณีใบสำคัญชำรุดขาดหายไปเหลือเพียงบางส่วนก็ต้องส่งไปเท่าที่มีพร้อมรูปถ่ายปัจจุบัน ให้แจ้งเลขที่ใบเสร็จรับเงิน วันเดือนปี ที่ชำระค่าธรรมเนียมให้ทราบด้วย
การต่ออายุใบสำคัญประจำตัว
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 10, 11, 13
  • พ.ร.บ.ทะเบียนคนต่างด้าว ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2495) มาตรา 4
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 13
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2498) ข้อ 1
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2529) ข้อ 1-4
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
  • เอกสารต้นเรื่อง
  • ใบเสร็จรับเงิน
  • คำร้อง ทต.8
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • ตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมในปีที่ล่วงมาแล้ว
  • บันทึกการรับเงินในคำร้อง, ต้นขั้ว, และใบสำคัญตามแบบที่ทางราชการกำหนด
  • ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมฉบับสีฟ้าส่งมอบให้คนต่างด้าวเก็บรักษาไว้ สีชมพูส่งไป กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ส่วนสีขาวเป็นฉบับสำเนาติดไว้กับเล่มใบเสร็จรับเงิน
  • นำเงินค่าธรรมเนียมส่งหน่วยงานการเงินตามระเบียบ

ข้อควรระวัง

  1. เมื่อใบสำคัญประจำตัวฯ หมดอายุ ให้ยื่นคำร้องขอต่ออายุภายใน 7 วัน นับแต่วันที่หมดอายุภายใน 7 วัน นับแต่วันที่หมดอายุ หากเลขกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ
  2. การชำระค่าปรับนั้น ให้ปรับตาม พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2495) มาตรา 4 และให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขาดต่ออายุตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2498) ข้อ 10 ก. จากนั้นจึงเก็บค่าธรรมเนียมย้อนหลังสำหรับปีที่ขาดต่อให้ครบถ้วนก่อนที่จะดำเนินการต่ออายุใบสำคัญฯ ให้ต่อไป
การแจ้งย้ายภูมิลำเนา
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 12
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2497) มาตรา 3
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 5
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2497)
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
  • เอกสารต้นเรื่อง
  • แบบคำร้องแจ้งย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ชั่วคราว
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • รับคำร้อง ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนบ้านและหลักฐานต้นเรื่อง
  • หมายเหตุในใบสำคัญ และต้นขั้วฯ หรือเอกสารต้นเรื่องแล้วแต่กรณี
  • ส่งเอกสารต้นเรื่องเดิมทั้งหมด (ยกเว้นเฉพาะต้นขั้วใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้ถ่ายสำเนา หรือคัดสำเนาจากต้นขั้วฯ พร้อมทั้งรับรองสำเนา ส่วนต้นขั้วฯ ยังคงเก็บไว้ที่ท้องที่เดิม) ไปยังนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ที่คนต่างด้าวจะย้ายไปอยู่ภายในกำหนด 15 วัน
  • แจ้งให้ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ทราบเพื่อหมายเหตุในปลายขั้ว ให้ตรงกัน

ข้อควรระวัง

นายทะเบียนท้องที่เดิมมักแจ้งเลขทะเบียน วันเดือนปี ที่ออกใบสำคัญ และสถานที่ออกใบสำคัญผิดพลาดคลาดเคลื่อน ดังนั้น ควรตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนแจ้งข้อมูลทุกครั้ง แนะนำให้คนต่างด้าวไปแจ้งการย้ายต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์เพื่อให้ภูมิลำเนาที่แท้จริงกับภูมิลำเนาในใบสำคัญตรงกัน กรณีแจ้งย้ายภูมิลำเนาของบุคคลต่างด้าวนั้นควรถ่ายสำเนาต้นขั้วฯ ของคนต่างด้าวผู้นั้นแนบติดมาพร้อมหนังสือนำส่งด้วย

การตายของคนต่างด้าว
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 12 วรรค 3 มาตรา 18 วรรคท้าย และมาตรา 22
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 7
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
  • ใบมรณบัตร
  • สำเนา ปจว. แจ้งความกรณีใบสำคัญสูญหาย
  • บันทึกปากคำญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรม
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • เจ้าบ้านที่คนต่างด้าวตาย ต้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย พร้อมหลักฐานใบมรณะบัตร และส่งคืนใบสำคัญประจำตัวฯ ด้วย
  • บันทึกการถึงแก่กรรมในเอกสารต้นเรื่อง
  • บันทึกการถึงแก่กรรมในใบสำคัญประจำตัว
  • แจ้ง งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบสำคัญฯ พร้อมส่งใบสำคัญประจำตัว และสำเนามรณะบัตร
  • กรณีใบสำคัญประจำตัวสูญหาย ให้ส่งสำเนา ปจว. ที่แจ้งความหาย พร้อมสอบสวนบันทึกปากคำญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรมโดยละเอียด แจ้งส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1

ข้อควรระวัง

  1. ห้ามมิให้ญาติของผู้ถึงแก่กรรมแกะรูปถ่ายออกจากใบสำคัญประจำตัวโดยเด็ดขาด
  2. การแก้ไขให้คงรายการเดิมไว้ โดยขีดฆ่าข้อความเดิมแล้วเขียนข้อความใหม่ที่ได้รับอนุมัติให้แก้ไขไว้ในช่องรายการ
  3. หากไม่มีเอกสารต้นเรื่อง ต้องติดต่อนายทะเบียนท้องที่เดิมก่อน
  4. บันทึกการแก้ไขโดยละเอียดในหน้าที่ว่างและลงเลขที่หนังสือของ งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ด้วย สำหรับอ้างอิงในภายหลัง
การแก้ไขเพิ่มเติมรายการต่างๆ ของคนต่างด้าว
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 14
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 8
  • หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0313/ว. 919 ลง 3 พฤศจิกายน 2518
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ่ายสำเนาหน้าที่ 1-6 , หน้าที่ 17 (รายการต่ออายุครั้งสุดท้าย) , หน้าที่ 33 (กรณีมีการย้ายที่อยู่)
  • หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ( ถ่ายสำเนาหน้าที่มีรูปถ่ายและประวัติส่วนตัว , หน้าการสลักหลังแจ้งออก 2 ครั้งสุดท้าย , ประวัติการเดินทาง 2 ครั้งสุดท้าย , หน้าที่มีการหมายเหตุ (ถ้ามี) )
  • เอกสารการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (ถ่ายสำเนาหน้าที่ 1-5 , สำเนาการสลักหลังแจ้งออก 2 ครั้งสุดท้าย , สำเนาประวัติการเดินทาง 2 ครั้งสุดท้าย )
  • รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 4 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 30 วัน
  • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ ( ถ่ายสำเนาหน้า 2-7 , สำเนาหน้าต่ออายุครั้งสุดท้าย , สำเนาหน้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง , สำเนาหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือสถานที่ทำงาน )
  • ใบอนุญาตทำงาน (ถ้ามี)
  • คำร้อง ทต.1 หรือ ทต.3 แล้วแต่กรณี
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • กรณีคนต่างด้าวยื่นคำร้องขอแก้ไขที่นายทะเบียนท้องที่
    • คนต่างด้าวยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการโดยมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรายการมาแสดง
    • ตรวจสอบหลักฐาน และเอกสารต้นเรื่อง รวมทั้งใบสำคัญประจำตัว
    • สอบสวนปากคำผู้ร้องโดยละเอียด แล้วเสนอไปยัง กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เพื่อพิจารณายกเว้นรายการแก้ไขอาชีพ ซึ่งนายทะเบียนสามารถอนุมัติให้แก้ไขตามความเป็นจริง
    • เมื่อได้รับอนุมัติจาก ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 แล้ว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1จะแจ้งให้นายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ดำเนินการแก้ไขในเอกสารต้นเรื่องและใบสำคัญประจำตัวให้ตรงกัน
    • กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 จะแก้ไขในเอกสารปลายขั้วให้ตรงกันกับเอกสารของนายทะเบียนต่อไป
  • กรณีคนต่างด้าวยื่นคำร้องที่ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1
    • ตรวจสอบหลักฐานตามที่ผู้ร้องนำมาแสดงร่วมกับปลายขั้ว และใบสำคัญประจำตัว
    • สอบสวนปากคำคนต่างด้าวโดยละเอียด
    • เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยัง ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เพื่อพิจารณาสั่งการ
    • ดำเนินการเหมือน ข้อ 3.1.4-3.1.5

ข้อควรระวัง

  1. นายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมได้เฉพาะกรณีเปลี่ยนแปลงอาชีพเท่านั้น
  2. การแก้ไขให้คงรายการเดิมไว้ โดยขีดฆ่าข้อความเดิมแล้วเขียนข้อความใหม่ที่ได้รับอนุมัติให้แก้ไข ไว้ในช่องรายการเเดิม
  3. เขียนด้วยตัวบรรจง อ่านง่าย และเขียนให้ครบทุกรายการ รวมทั้งนายทะเบียนลงนามย่อ กำกับทุกรายการที่แก้ไข
  4. บันทึกการแก้ไขโดยละเอียดในหน้าว่างและลงเลขที่หนังสือด้วย สำหรับอ้างอิงในภายหลัง
การขอตรวจสอบหลักฐานปลายขั้วและการขอคัดไปเป็นเอกสารต้นเรื่อง
ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • พ.ร.บ.การทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ.2493) มาตรา 6, 9
  • ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 55 บทที่ 1, 4
เอกสารประกอบ
  • ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
  • รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ขนาด 4 x 6 ซม. จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 30 วัน
  • เอกสารติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่เดิม
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
  • ตรวจเทียบรูปถ่ายและรายการในใบสำคัญฯ กับเอกสารต้นเรื่องและหรือปลายขั้ว
  • ตรวจสอบเอกสารการติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่เดิมว่าได้มีการไล่เบี้ยจนครบทุกท้องที่ที่คนต่างด้าวเคยมีภูมิลำเนามาก่อนแล้วหรือไม่
  • ส่งใบสำคัญฯ พร้อมเอกสารการติดต่อไปยัง กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เพื่อพิจารณา
  • เก็บสำเนาปลายขั้วฯ ที่ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 คัดส่งมาให้เป็นเอกสารต้นเรื่องต่อไป

ข้อควรระวัง

ดำเนินการเช่นเดียวกับกรณีการออกใบแทนใบสำคัญกรณีชำรุด สูญหาย กล่าวคือต้องตรวจสอบต้นเรื่อง จากนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่เดิมก่อนเสมอ

ข้อพึงปฏิบัติ
  1. คนต่างด้าวไปขอรับใบสำคัญประจำตัวฯ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง หรือวันที่มีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์
  2. คนต่างด้าวที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงสัญชาติ ชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องแจ้งนายทะเบียนฯ ภายใน 7 วัน
  3. คนต่างด้าวตาย เจ้าบ้านต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 24 ชม.
  4. ใบสำคัญประจำตัวหมดอายุต้องติดต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน
  5. ต้องพกพาใบสำคัญประจำตัวฯ ติดตัวเสมอ
  6. ย้ายภูมิลำเนาต้องแจ้งภายใน 30 วัน
  7. ใบสำคัญประจำตัวชำรุดหรือสูญหายให้ไปขอรับใบแทนภายใน 7 วัน
โทษ
  1. ไม่ปฏิบัติตามข้อ 1, 4 ปรับไม่เกิน 500.- บาท
  2. ไม่ปฏิบัติตามข้อ 2, 3, 5 – 7 ปรับไม่เกิน 1,000.- บาท
หน้าที่และความรับผิดชอบของ งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1

อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบ (กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1)

  1. งานกำหนดแนวทางและตอบข้อหารือการปฏิบัติงานการทะเบียนคนต่างด้าว
  2. งานพิจารณาและสอบสวนคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร
  3. งานดำเนินการเกี่ยวกับสำเนาปลายขั้วใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และจัดทำทะเบียนคนต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร งานอื่นที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชา ลักษณะของงานทะเบียนคนต่างด้าว เดิมกำหนดให้เป็นฝ่ายเทียบเท่ากองกำกับการ สังกัดกองตรวจคนเข้าเมือง และเมื่อมีการแบ่งส่วนราชการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จัดตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2536 ฝ่ายทะเบียนคนต่างด้าวจึงถูกกำหนดโครงสร้างใหม่ลดฐานะเป็นงานโดยมีหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับปัญหาการทะเบียนคนต่างด้าว
  4. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร พิจารณาเสนอขออนุมัติการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้ยื่นคำร้องที่อ้างว่าเคยอยู่ในราชอาณาจักรมาก่อนโดยไม่มีหลักฐานการเข้าเมืองหรือด้วยเหตุอื่นใด หรือพิจารณาเสนอขออนุมัติการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่ผู้ที่ได้รับหลักฐานการเข้าเมืองแล้ว แต่มิได้ยื่นคำร้องขอรับใบสำคัญประจำตัวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองหรือวันที่มีอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ ซึ่งนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่เสนอสำนวนการสอบสวนส่งมาให้พิจารณาสั่งการ และรวมถึงการเก็บรวบรวม ตรวจสอบ และดำเนินการเกี่ยวกับสำเนาปลายขั้งใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนั้น งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 จึงมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบครอบคลุมเช่นเดียวกับลักษณะงาน ดังเช่นที่เคยกำหนดให้เป็นฝ่ายทะเบียนคนต่างด้าวเดิม

สถานที่ติดต่อ

งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารบี ชั้น 2
120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

โทร. 0-2141-9906-7
โทรสาร 0-2143-8229