การเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง และย้ายตราประทับลงในหนังสือเดินทางเล่มใหม่

กรณีเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทางเนื่องจากหนังสือเดินทางหมดอายุหรือหมดหน้าประทับ

ระเบียบและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

เอกสารประกอบ
  1. แบบคำขอ
  2. หนังสือรับรองจากสถานทูต
  3. หนังสือเดินทางเล่มเก่า พร้อมสำเนา
  4. หนังสือเดินทางเล่มใหม่ พร้อมสำเนา
  5. สำเนาตราประทับแสดงการเดินทางเข้าครั้งสุดท้าย
  6. สำเนาหน้าหนังสือเดินทางที่มีวีซ่า (ถ้ามี)
  7. สำเนาตราประทับการอนุญาตให้อยู่ต่อครั้งสุดท้าย
  8. บัตรตรวจคนเข้าเมือง ตม.6 (บัตรขาออก) พร้อมสำเนา
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ

– กรณีที่คนต่างด้าวมีการยื่นคำร้องขออยู่ต่อไปอีก หรือคำขอเพื่อมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
– ให้คนต่างด้าวติดต่อแผนกที่เกี่ยวข้องตามประเภทการตรวจลงตราหรือการขออยู่ต่อ

หมายเหตุ

กรณีเคยมีการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร สามารถติดต่อยื่นคำร้องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราขอาณาจักรครั้งล่าสุด

การเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง และย้ายตราประทับลงในหนังสือเดินทางเล่มใหม่

กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย

ระเบียบและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

เอกสารประกอบ
  1. แบบคำขอ
  2. สำเนาหนังสือแจ้งความจากสถานีตำรวจ
  3. สำเนาหนังสือเดินทางเล่มเก่าที่มีรูปถ่าย (ถ้ามี)
  4. สำเนาหนังสือเดินทางเล่มใหม่
  5. หนังสือจากสถานฑูตถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองขอความร่วมมือให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสำเนาตราเข้าในหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้กับคนต่างด้าวนั้น
ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ
    1. ให้คนต่างด้าวพบเจ้าหน้าที่ ที่เคาน์เตอร์บริการงานเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เพื่อยื่นคำร้อง และกรอกข้อมูล รายละเอียด เช่น ชื่อ สกุล เลขที่หนังสือเดินทาง วันเดือนปี ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และเที่ยวบิน
    2. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดของคำขอและตรวจสอบความถูกต้อง ความสมบูรณ์ของหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่ และจะต้องมีใบแจ้งความร้องทุกข์
    3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
    4. เมื่อพบข้อมูลการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องก็จะดำเนินการสำเนาตราขาเข้าให้กับคนต่างด้าวต่อไป
    5. กรณีคนต่างด้าวมีการยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราชอาณาจักรหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรให้ไปพบเจ้าหน้าที่ยังแผนกที่เกี่ยวข้องกับการตรวจลงตรา หรือ
      กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 แล้วแต่กรณีเพื่อสำเนาตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อรอฟังผลการพิจารณา ให้อยู่ต่อหรือรอฟังผลการพิจารณาคำขอเพื่อมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
    6. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2141-7884
หมายเหตุ

กรณีเคยมีการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร สามารถติดต่อยื่นคำร้องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราขอาณาจักรครั้งล่าสุด

การแจ้งที่พักคนต่างด้าว สำหรับสถานประกอบการ

การแจ้งที่พักของคนต่างด้าว ตาม พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ได้กำหนดไว้ว่า “เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นอยู่ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจในท้องที่นั้น

ในกรณีที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง

การแจ้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด”

ในการแจ้งที่พักคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยในเคหะสถานซึ่งได้แก่ โรงแรมที่ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติโรงแรมฯและ เกสเฮ้าส์ แมนชั่น อพาร์ตเม้นท์ สถานประกอบการหรือบ้านเช่าทั่วๆไป ให้เจ้าของเคหสถานดังกล่าว เจ้าของบ้านเช่า หรือผู้ประกอบการแจ้งตามแบบ ตม. 30

กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
กรณีที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

ในการดำเนินการแจ้งที่พักของคนต่างด้าวตาม มาตรา 38ฯ ดังกล่าวนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้กำหนดรูปแบบและวิธีให้บริการเพื่อผู้มาขอรับบริการได้เลือกวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการดังนี้
– นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผุ้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง หรือ
– แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือ
– แจ้งทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต(Internet)

วิธีที่ 1 นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง

นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง ที่ช่องบริการแจ้งที่พักอาศัย (ตม.30) ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ (ตามวันและเวลาราชการ)

วิธีที่ 2 แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
  1. กรอกแบบฟอร์มการแจ้ง พร้อมลงชื่อผู้แจ้งให้เรียบร้อย
  2. ซองจดหมายขนาด 6.5 x 9 นิ้ว พร้อมติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง เพื่อส่งใบรับแจ้งของเจ้าหน้าที่คืน
  3. นำเอกสารข้อ 1-2 ใส่ซองลงทะเบียน (เก็บใบลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน) ส่งตามที่อยู่ ดังนี้

งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว
กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

วิธีที่ 3 แจ้งทางอินเตอร์เน็ต (Internet)
  1. ลงทะเบียนขอใช้บริการแจ้งที่พักอาศัยทางระบบอินเตอร์เน็ตที่ www.immigration.go.th ในหน้าต่าง การแจ้งที่พักอาศัย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและอนุมัติแล้ว จะแจ้งรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน สำหรับเข้าใช้ระบบไปยัง e-mail ที่ลงทะเบียน
  2. สามารถ Download แบบขอใช้บริการแจ้งที่พักอาศัยทางอินเตอร์เน็ตได้ที่ www.immigration.go.th
  3. สามารถ Download คู่มือการแจ้งที่พักอาศัยทางอินเตอร์เน็ตและแบบ ตม.30 ในหน้า login เข้าระบบ

หรือกดดูขั้นตอนการเข้าระบบแจ้งที่พัก

*** เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานประกอบการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้พัฒนาระบบแจ้งที่พักให้สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องอ่านหนังสือเดินทางในการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว สามารถตรวจสอบรายละเอียดรุ่น และยี่ห้อของเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง รวมทั้งดาวน์โหลด Driver เพื่อทำการติดตั้งโปรแกรมใช้งานเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง และคู่มือการใช้งานระบบฯ ได้จากหน้าจอ Log in เข้าระบบแจ้งที่พักอาศัย ผ่านทางเว็บไซต์ www.immigration.go.th ***

วิธีการกรอกบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย(แบบ ตม.30) กรณีมาแจ้งด้วยตนเองหรือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

แบบการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหะสถาน(ตม.30) ประกอบด้วยเอกสาร 2 ส่วน(2 แผ่น)ด้วยกัน ส่วนแรก เป็นการกรอกรายละเอียดข้อมูลของเจ้าบ้านฯและที่ตั้งสถานที่ที่มีคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ส่วนที่ 2 เป็นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย
การกรอกรายละเอียดในแบบตม.30 ส่วนที่ 2 ขอให้ท่านดำเนินการกรอกให้ครบทุกช่อง โดยให้ดูจากหนังสือเดินทางของบุคคลต่างด้าวเป็นหลัก เนื่องจากรายละเอียดของบุคคลต่างด้าว ซึ่งบุคคลต่างด้าวเขียนให้ก่อนเข้าพักอาศัยมักไม่ถูกต้อง และการกรอกให้ใช้วิธีพิมพ์หรือเขียน ถ้าเป็นการเขียนให้เขียนเป็น BLOCK LETTER และมีข้อพึงระวังในการกรอกดังนี้
1. ชื่อคนต่างด้าว ต้องเว้นช่องว่างระหว่าง ชื่อตัว ชื่อกลาง ชื่อสกุล ให้เห็นชัดเจน
2. เลขที่หนังสือเดินทาง หากมีตัวหนังสือข้างหน้า หรือข้างหลังตัวเลขให้เขียนลงไปด้วย
3. ช่องบัตรขาเข้าเลขที่ ให้กรอกเลขที่บัตรขาเข้า(บัตร ตม.6) ซึ่งแนบอยู่ในหนังสือเดินทาง โดยกรอกเช่นเดียวกับ
4. การกรอกเลขที่หนังสือเดินทาง กล่าวคือ หากมีตัวหนังสือ ให้กรอกตัวหนังสือลงไปด้วย
5. วันเดินทางเข้า หมายถึง วันที่คนต้างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับวันที่เข้าพัก ให้กรอกลงใน
แผ่นหน้าของใบแจ้งรับคนต่างด้าว เข้าพักอาศัย

พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลในแบบ ตม.30 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกรอกข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรับแจ้งและฉีกแบบ ตม.30 ส่วนล่างให้ผู้แจ้งเก็บรักษาต่อไป

การรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักร เกิน 90 วัน

คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแล้ว ถ้าอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วัน คนต่างด้าวผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยต่อพนักงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทุก90 วัน หากท้องที่ใดมีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่จะแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการแห่งนั้น ก็ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา 37(5) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

วิธีการแจ้ง
  1. คนต่างด้าวแจ้งด้วยตนเองหรือ
  2. คนต่างด้าวมอบหมายให้ผู้อื่นนำหนังสือไปแจ้งหรือ
  3. คนต่างด้าวอาจมีหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
  4. คนต่างด้าวสามารถแจ้งที่พักอาศัยได้ ก่อน 15 วันหรือหลัง 7 วัน นับจากวันครบกำหนด หากเกินกำหนดนัด หรือเกินกำหนดที่จะต้องแจ้งที่พัก คนต่างด้าวต้องมารายงานตัวด้วยตนเองเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับ โดยจะถูกเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท
  5. กรณีคนต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศก่อนครบกำหนดนัดครั้งต่อไป เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ให้มารายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยครั้งต่อไป เมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งสุดท้าย
เอกสารประกอบคำร้อง กรณียื่นด้วยตนเอง
  1. หนังสือเดินทาง (Passport)
  2. ใบรับแจ้งการอยู่เกิน 90 วัน (กรณีที่มีการแจ้งอยู่เกิน90 วันมาแล้ว) ดูตัวอย่างใบรับแจ้ง
  3. กรอกรายละเอียดใน แบบฟอร์ม ตม. 47 พร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย ดูตัวอย่าง
สถานที่รับแจ้ง
  1. งานรับแจ้งที่พักอาศัย กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สำหรับคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  2. ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน กองกำกับการ 3 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 อาคารจัตุรัสจามจุรีสแควร์ ชั้น 18 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
  3. ศูนย์บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา)เมเจอร์ฮอลลีวูด สุขสวัสดิ์ หรือ อิมพีเรียล ลาดพร้าว สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่พำนักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร
  4. ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่ง โดยแจ้งตามเขตพื้นที่ที่คนต่างด้าวพักอาศัย
เอกสารที่ใช้ในการแจ้งที่พักอาศัยเมื่ออยู่เกิน 90 วัน ทางไปรษณีย์ (เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น)

  1. สำเนาหนังสือเดินทางหน้ารูปถ่าย , วันเดินทางเข้าประเทศครั้งสุดท้าย และการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยครั้งล่าสุด
  2. สำเนาบัตร ตม.6 (TM.6) ดูตัวอย่างบัตร ตม.6
  3. ใบรับแจ้งการอยู่เกิน 90 วัน (ใบนัดครั้งต่อไป กรณีที่ไม่มีการเดินทางออกนอกประเทศ) ให้ใช้ใบจริงเท่านั้น ดูตัวอย่างใบรับแจ้ง
    กรณีที่มีการเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้ามา ให้นับ 90 วันใหม่จากวันเดินทางเข้าจนครบ 90 วัน จึงแจ้งอยู่เกิน 90 วัน
  4. กรอกข้อมูลใน แบบฟอร์ม ตม. 47 ให้สมบูรณ์พร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย ดูตัวอย่าง
  5. ซองจดหมาย ขนาด 6.5 x 9 นิ้ว พร้อมติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง เพื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้จัดส่งใบนัดครั้งต่อไปและแบบฟอร์ม ตม.47 กลับไปยังท่าน
  6. นำเอกสารตามข้อ 1-5 ใส่ซองและจัดส่งโดยไปรษณีย์ลงทะเบียน ทั้งนี้คนต่างด้าวจะต้องเก็บหลักฐานการส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐานจนกว่าจะได้เอกสารกลับคืน
    ส่งก่อนวันครบกำหนดแจ้งครั้งต่อไป 15 วัน มายังที่อยู่ตามด้านล่างนี้
    งานรับแจ้งที่พักอาศัยอยู่เกิน 90 วัน
    กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
    ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารบี
    120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

หมายเหตุ : หากพ้นกำหนดระยะเวลาภายใน 1 เดือน ยังไม่ได้รับการตอบกลับกรุณานำใบลงทะเบียนจากไปรษณีย์มาติดต่อเพื่ออกใบนัดใบใหม่ให้

หมายเหตุ

  • การแจ้งที่พักอาศัย กรณีคนต่างด้าวอยู่เกิน 90 วัน และการแจ้งต่อไปทุกๆ 90 วัน มิใช่ เป็นการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรแต่อย่างใด
  • คนต่างด้าวผู้ใดอยู่เกินกว่า 90 วัน ไม่แจ้งที่พักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งช้ากว่าที่กำหนด ต้องมารายงานตัวด้วยตนเอง และเสียค่าปรับ จำนวน 2,000 บาท หรือคนต่างด้าวถูกจับกุมตัวมาไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องเสียค่าปรับ จำนวน 4,000 บาท
  • เมื่อคนต่างด้าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เมื่อเดินทางกลับมาให้เริ่มนับเวลา 90 วันใหม่ทุกกรณี
  • การแจ้งที่พักอาศัย กรณีคนต่างด้าวอยู่เกิน 90 วัน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีเกินกำหนดที่จะต้องแจ้งที่พักฯ คนต่างด้าวต้องมารายงานตัวด้วยตนเองเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท
  • อย่าหลงเชื่อบุคคลที่จะมีการแอบอ้างหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทน
การประกันตัวผู้ต้องหา

หลักเกณฑ์การกำหนดวงเงินประกันของงานสอบสวนกลุ่มตำแหน่งสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ลำดับ ข้อหา อัตราโทษ วงเงินประกัน
1 ปลอมและใช้เอกสารปลอม(ตาม ป.อาญา มาตรา 264,268) จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ
ปรับไม่เกิน 6,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
– เงินสด 120,000 บาท
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
2 ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม(ตาม ป.อาญา มาตรา 265,268) จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี
และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท
ถึง 10,000 บาท
– เงินสด 150,000 บาท
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
3 ปลอมและใช้ดวงตราหรือรอยตราเจ้าพนักงานปลอม จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ป
ีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาท
ถึง 14,000 บาท
– เงินสด 150,000 บาท
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
4 ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วปยระการใดๆให้คนต่างด้าวที่รู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ้นการจับกุม (ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64) จำคุกไม่เกิน 5 ปีและ
ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
– เงินสด 100,000 บาท (กรณีคนไทย)
– เงินสด 200,000 บาท (กรณีคนต่างด้าว)
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
5 นำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 (ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64) จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือ
ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
– เงินสด 100,000 บาท (กรณีคนไทย)
– เงินสด 200,000 บาท (กรณีคนต่างด้าว)
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
6 เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต(ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11,12(1),18วรรคสอง,62,81) จำคุกไม่เกิน 2 ปีและ
ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
– เงินสด 40,000 บาท
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
7 เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด( ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81) จำคุกไม่เกิน 2 ปีและ
ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
– เงินสด 40,000 บาท
– หลักทรัพย์มีราคาประเมิน 2 เท่าของเงินสด
8 ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราในการป้องกันและปราบกรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540 ดูตาม ป.อาญา ในความผิดเกี่ยวกับ เพศในมาตรานั้นๆ – เงินสด 200,000 บาท (กรณีคนต่างด้าว)
– หลักทรัพย์มีราคาประเมินเป็น 2 เท่าของเงินสด
หมายเหตุ
การติดต่อ งานสอบสวน กลุ่มตำแหน่งสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โทร. 0-2287-3129

การเยี่ยมผู้ต้องกัก เป็นงานในรับผิดชอบของ กก.3 บก.สส.สตม.
การเยี่ยมผู้ต้องกัก เยี่ยมได้ในวันราชการ จันทร์-ศุกร์ 11.00 น.-12.00 น.

การเข้าเยี่ยมต้องเตรียมเอกสารดังนี้
  1. บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทาง
  2. ใบคำร้อง
สิ่งของต้องห้ามนำเข้าเยี่ยม
  1. โทรศัพท์
  2. อาวุธ
  3. กล้องถ่ายรูป
  4. กระเป๋า
สิ่งของนำเยี่ยมได้
  1. อาหารเครื่องดื่ม
  2. เครื่องใช้ส่วนตัวประจำวัน
ขั้นตอนการเข้าเยี่ยม

  1. ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่,รับบัตรเข้าเยี่ยม
  2. ฝากของต้องห้าม
  3. ผ่านประตูตรวจอาวุธ-วัตถุระเบิด
  4. ตรวจค้นตัว-ตรวจค้นของเยี่ยม
  5. เยี่ยมผู้ต้องกักตามห้องที่ผู้ต้องกักอยู่
  6. กลับออกจากห้องกักภายใน เวลา 12.00น.

หมายเหตุ
– เวลาเข้าเยี่ยมปกติ 11.00 น.-12.00น.
– การเข้าเยี่ยมสำหรับสถานฑูต
10.00 น.-11.00 น. และ 14.00 น.-15.30 น. วันจันทร์-วันศุกร์

การส่งตัวผู้ต้องกักกลับประเทศที่มีถิ่นที่อยู่

การส่งตัวผู้ต้องกักกลับประเทศที่มีถิ่นที่อยู่ เป็นงานในรับผิดชอบของ กองกำกับการ 3 ศูนย์สืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมีหน้าที่ในการนำเอกสารที่เกี่ยวกับผู้ต้องกักที่ดำเนินคดีเรียบร้อบแล้ว ส่งกลับยังประเทศที่มีถิ่นที่อยู่หรือยังประเทศที่ 3 และบันทึกข้อมูลบุคคต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อส่งกลับเรียบร้อยแล้ว

เอกสารที่จะต้องนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อส่งกลับฯประกอบด้วย
  • หนังสือเดินทาง
  • คำร้องขอส่งกลับ
  • ตั๋วเครื่องบิน
  • ค่ายานพาหนะและภาษี ค่าใช้สนามบิน

หมายเหตุ
ยื่นก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 วันทำการ

ข้อควรทราบ : กรณี คนต่างด้าวเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้าง หรือพ้นหน้าที่ (เลิกจ้าง/ออกจากงาน)

เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแล้ว จะต้องปฏิบัติหน้าที่ หรืออยู่ตามเหตุผลที่ร้องขอตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ (เปลี่ยนแปลงนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้าง หรือ พ้นหน้าที่) หรือเปลี่ยนเหตุผลการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรแตกต่างไปจากที่ร้องขอ
การอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักรดังกล่าวจะสิ้นสุดลงทันที และจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้รวมถึงครอบครัวผู้ใช้สิทธิติดตามด้วย
– รายการเอกสารประกอบการแจ้งยกเลิกวีซ่า กรณีเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้าง หรือพ้นหน้าที่ (เลิกจ้าง/ออกจากงาน) ณ กก.2 บก.ตม.1 มีดังนี้
1.จดหมาย ถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแจ้งคนต่างด้าวพ้นหน้าที่ (โดยจะต้องระบุวันที่ออกจากงานให้ชัดเจน หากไม่ระบุวันที่ออกจากงาน จะถือว่าออกจากงานตามวันที่ที่ออกจดหมาย) ลงนามโดยกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หรือการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ฉบับนายทะเบียนรับรองไม่เกิน 6 เดือน
3. สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท พร้อมลงชื่อกำกับรับรองสำเนาถูกต้อง
4. หนังสือเดินทางของคนต่างด้าวผู้พ้นหน้าที่ (เจ้าหน้าที่ต้องประทับตราพ้นหน้าที่ในเล่มหนังสือเดินทางดังกล่าว)
หมายเหตุ :
ทั้งนี้การแจ้งพ้นหน้าที่ (ยกเลิกวีซ่า)จะทำให้การอนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรสิ้นสุดลงทันที จะต้องมาติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งพ้นหน้าที่ในวันที่เลิกจ้าง (วันสุดท้ายของการทำงาน) และกรุณาติดต่อแจ้งยกเลิกวีซ่ากับด่านตรวจคนเข้าเมืองเดิมที่ท่านได้เคยยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราชอาณาจักรไว้