พระราชบัญญัติ
มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก
พ.ศ.๒๕๔๐
—————-

ภูมิพลอดุลยเดช ภ.ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.๒๕๔๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พุทธศักราช ๒๔๗๑
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลผู้มีอายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ ๓ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงหรือเด็ก ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด รับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งหญิงหรือเด็ก หรือจัดให้หญิงหรือเด็กกระทำการ หรือยอมรับการกระทำใด เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อการอนาจาร หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าหญิงหรือเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี กฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน หรือพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๖ ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้น ๆ
มาตรา ๗ ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งคนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคนต้องระวางโทษตามที่ได้บัญญัติไว้ สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วย
ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้น คงรับโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งเท่านั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกลับใจให้ความจริงแห่งการสมคบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
มาตรา ๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจตราสอดส่องดูแลตามท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง สถานบริการ โรงงาน และสาธารณสถานต่าง ๆ เพื่อมิให้เกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่อาจขอให้บุคคลใดช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๙ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน
(๒) ตรวจตัวหญิงหรือเด็กที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ แต่ถ้าผู้เสียหายเป็นหญิงหรือเด็กหญิงจะต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ตรวจ
(๓) ตรวจค้นสถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ แต่การตรวจค้นสถานที่ให้กระทำในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการทันทีหญิงหรือเด็กนั้น อาจถูกใช้กำลังประทุษร้าย หรือผู้กระทำผิดจะทำการโยกย้ายหรือซ่อนเร้นหญิงหรือเด็กนั้นเสียก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจค้นสถานที่ในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ที่อธิบดีกรมตำรวจมอบหมายสำหรับในเขตกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายสำหรับในเขตจังหวัดอื่น
มาตรา ๑๐ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ หรือเพือช่วยเหลือหญิงหรือเด็กซึ่งอาจจะเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวหญิงหรือเด็กเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือเพื่อตรวจสอบเอกสารหรือพยานหลักฐาน แต่ห้ามมิให้กักตัวไว้เกินครึ่งชั่วโมง ในกรณีมีเหตุจำเป็นจะต้องใช้เวลาเกินนั้น เมื่อได้จดแจ้งการกักตัวไว้ในรายงานแล้ว ให้กักตัวหญิงหรือเด็กไว้ได้ไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ต้องแจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจสำหรับในเขตกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตจังหวัดอื่นทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นจะกักตัวหญิงหรือเด็กไว้เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงแต่ไม่เกิดสิบวันก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แล้วแต่กรณี
การกักตัวหญิงหรือเด็กตามมาตรานี้ ต้องจัดให้หญิงหรือเด็กนั้นอยู่ในสถานที่อันสมควรซึ่งมิใช่ห้องขังหรือสถานคุมขัง
การจัดให้มีรายงาน การจดแจ้ง และการอนุมัติ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เมื่อหญิงหรือเด็กได้เบิกความต่อศาลตามความในมาตรา ๑๒ แล้ว ให้ถือว่าเหตุในการกักตัวหญิงหรือเด็กนั้นสิ้นสุดลง
มาตรา ๑๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมแก่หญิงหรือเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ระในมาตรา ๕ ในเรื่องอาหาร ที่พัก และการส่งกลับไปยังประเทศเดิมหรือภูมิลำเนาของผู้นั้น
ในการช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจัดให้หญิงหรือเด็กไปรับการดูแลในสถานแรกรับตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี สถานแรกรับเด็กตามกำหมายว่าด้วยสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน หรือสถานสงเคราะห์อื่นของรัฐหรือเอกชนก็ได้
ในกรณีที่เป็นการสมควร รัฐมนตรีอาจออกระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือตามมาตรานี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้
การส่งผู้เสียหายซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ให้เป็นไปตามพันธกรณีที่มีตามสนธิสัญญากับประเทศคู่สัญญาหรือเป็นไปตามอนุสัญญาซึ่งรัฐบาลไทยเป็นภาคี
มาตรา ๑๒ เมื่อได้ความว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่ระในมาตรา ๕ แม้จะยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา พนักงานอัยการโดยตนเองหรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากพนักงานสอบสวนจะนำหญิงหรือเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายมายื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าได้มีการกระทำความผิดและเหตุแห่งความจำเป็นที่จะต้องมีการสืบพยานไว้โดยพลันก็ได้
ในกรณีที่หญิงหรือเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหายจะให้การต่อศาลเอง เมื่อหญิงหรือเด็กแจ้งแก่พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลทันที
ให้ศาลสืบพยานทันทีที่ศาลได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ในการนี้หากผู้มีส่วนได้เสียในคดีคนใด ยื่นคำร้องต่อศาลแถลงเหตุผลและความจำเป็นขอถามค้านหรือตั้งทนายความถามค้านเมื่อเห็นสมควรก็ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตได้
คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง
ถ้าต่อมามีการฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยให้การกระทำความผิดกฎหมายที่ระบุในมาตรา ๕ ก็ให้รับฟังพยานดังกล่าวในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้
มาตรา ๑๓ ในกรณีที่หญิงหรือเด็กซึ่งเป็นผู้เสียหาย หรือสามีภรรยา ญาติ หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับหญิงหรือเด็กนั้น เห็นว่าการกักตัวหญิงหรือเด็กตามมาตรา ๑๐ หรือการให้ความช่วยเหลือแก่หญิงหรือเด็กตามมาตรา ๑๑ เป็นไปโดยมิชอบ หญิงหรือเด็ก หรือสามีภรรยา ญาติ หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องนั้นอาจอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมตำรวจ สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตจังหวัดอื่นได้
ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์โดยเร็ว แต่ถ้าอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการกักตัวหญิงหรือเด็กนั้นถูกต้องแล้ว ให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาชี้ขาดต่อไป
ระยะเวลาสำหรับพิจารณาอุทธรณ์หรือรายงานหรือระยะเวลาที่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาชี้ขาด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันได้ปรากฏการกระทำความผิดโดยการซื้อ ขาย จำหน่าย ชักพา หรือจัดหาบุคคลไปด้วยวิธีการใด ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองความใคร่แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อการอนาจาร หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันมิชอบ ทั้งนี้ ด้วยวิธีการอันเป็นการคุกคามและกระทบกระเทือนต่อสวัสดิภาพของบุคคลดังกล่าวและการกระทำดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะการกระทำต่อหญิงและเด็กหญิงเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันต่อเด็กชายด้วย นอกจากนั้นในส่วนของผู้กระทำผิดยังมีพฤติการณ์ที่กระทำในรูปของการตระเตรียมสมคบกันเป็นขบวนการเชื่อมโยงทั้งในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง พุทธศักราช ๒๔๗๑ ยังมีขอบเขตที่จำกัดทั้งในแง่ของฐานความผิด และมาตรการที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด อาทิเช่น มาตรการเกี่ยวกับการตรวจตราสอดส่องเพื่อช่วยเหลือหรือกักตัวหญิงหรือเด็กเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด หรือมาตรการในการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์แก่หญิงและเด็กที่ถูกกระทำก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีเป็นการสมควรปรับปรุงมาตรการในการป้องกันปราบปรามและเพิ่มเติมมาตรการในการเยียวยาช่วยเหลือหญิงหรือเด็กให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนบทกำหนดความผิดหลักที่เคยมีแต่เดิมนั้น สมควรนำไปแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อความสะดวกในการใช้กฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้