พระราชบัญญัติ
ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
พ.ศ. 2539
————

ภูมิพลอดุลยเดช ภ.ป.ร.
ไห้ไว้ ณ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2539
เป็นปี 51 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป*

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“การค้าประเวณี” หมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำ และผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ
“สถานการค้าประเวณี” หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณี หรือยอมให้มีการค้าประเวณี และให้หมายความรวมถึงที่ที่ใช้ในการติดต่อ หรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการค้าประเวณีด้วย
“สถานแรกรับ” หมายความถึง สถานที่ที่ทางราชการจัดให้มีขึ้น หรือสถานที่ที่มูลนิธิสมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อรับผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อพิจารณาวิธีการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
“สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” หมายความว่า สถานที่ที่ทางราชการจัดให้มีขึ้น หรือสถานที่ที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นจัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาอาชีพแก่ผู้รับการคุ้มครอง และพัฒนาอาชีพแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
“การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ” หมายความว่า การอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ หรือกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการณ์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนคำราญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
มาตรา 6 ผู้ใดเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำเพราะถูกบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา 7 ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำชำเราหรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ในสถานการค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดยมิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา 9 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดให้เพื่อบุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่ากระทำต่าง ๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ให้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม หนึ่งในสามแล้วแต่กรณี
ผู้ใดเพื่อให้มีการกระทำการค้าประเวณี รับตัวบุคคลซึ่งตนรู้อยู่ว่ามีผู้จัดหาล่อไป หรือชักพาไปตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสามหรือวรรคสี่หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวต้องระวางโทษตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่แล้วแต่กรณี

มาตรา 10 ผู้ใดเป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบแปดปีรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ต่อผู้อยู่ในความปกครองของตน และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 11 ผู้ใดเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่ง มีบุคคลซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้ากิจการหรือสถานการค้าประเวณีตามวรรคหนึ่งมีเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 12 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยว กักขัง กระทำด้วยประการใด ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายหรือทำร้ายร่างกาย หรือขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นเพื่อข่มขืนใจให้ผู้อื่นนั้นกระทำการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(1) ได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ใดสนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษตามที่
บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองแล้วแต่กรณี
ถ้าผู้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นพนักงานฝ่าย ปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ในสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งสามแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 13 ถ้าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 7 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีคำขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้นั้นเสีย และแต่งตั้งผู้ปกครองแทนบิดา มารดา หรือผู้ ปกครองนั้น
ในกรณีที่ศาลจะตั้งผู้ปกครองตามวรรคหนึ่ง และศาลเห็นว่าไม่มีผู้เหมาะสมที่จะปกครองผู้กระทำความผิด ศาลจะตั้งผู้อำนวยการสถานแรกรับ หรือผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่ผู้กระทำความผิดนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เป็นผู้ปกครองของผู้กระทำผิดก็ได้
ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการตั้งผู้ปกครองมาใช้บังคับกับการตั้งผู้ปกครองตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพเรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ. ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีการประชาสงเคราะห์ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสามัญศึกษา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือรองอธิบดีหรือรองเลขาธิการซึ่งอธิบดี หรือเลขาธิการดังกล่าวข้างต้นมอบหมาย ผู้แทนศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานในองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี

มาตรา 15 ให้ ก.ค.อ.มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพรวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ค้า
ประเวณี
(2) ประสานแผนงาน โครงการ ระบบงานและกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(3) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติ ราชการหรือแผนงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(4) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และการจัดตั้งสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของทางราชการ
(5) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการ คุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(6) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามมาตรา 26
(7) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการวางระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานแรกรับ และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(8) วางระเบียบเกี่ยวกับการรับตัว และดูแลผู้ถูกควบคุมตามมาตรา 32
(9) วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการส่งตัวบุคคล ไปยังสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชี ตลอดจนการกำหนดระยะเวลา ในการรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
(10) ดำเนินการอื่นในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 16 ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า ก.ค.อ.จังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดจังหวัดหรือผู้แทน จัดหางานจังหวัดหรือผู้แทน หัวหน้าตำรวจจังหวัดหรือผู้แทนพัฒนาการจังหวัดหรือผู้แทน ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน สามัญจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดหรือผู้แทน สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน แรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดหรือผู้แทน อัยการจังหวัดหรือผู้แทน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกินเจ็ดคนเป็นกรรมการ และให้ประชาสงเคราะห์จังหวัดเป็นกรรมการ และเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี และอย่างน้อยห้าคนให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำเนินงานองกรณ์เอกชน ที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี

มาตรา 17 ให้ ก.ค.อ. จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งในด้านข้อมูล
ทรัพยากร และการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามค้าประเวณีของจังหวัด
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทั้ง
ของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในพื้นที่ของจังหวัด
(3) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.ค.อ. เพื่อแก้ไขปรับปรุง หรือวางระเบียบข้อบังคับ และคำสั่ง
ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของจังหวัด
(4) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ ก.ค.อ. มอบหมาย

มาตรา 18 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอญยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีกรรมการผู้ทรงคุณ
วุฒิซึ่งพันจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 19 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 18 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจแต่งตั้ง แล้วแต่กรณีให้ออก
(4) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้
กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 20 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และมีการแต่งตั้งผู้
อื่นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม ในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีราระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 21 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

มาตรา 22 การประชุมของ ก.ค.อ.หรือ ก.ค.อ.จังหวัด ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด กรรการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

มาตรา 23 ก.ค.อ.หรือ ก.ค.อ.จังหวัดจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ ก.ค.อ.หรือ ก.ค.อ.จังหวัดมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา 22 มาใชับังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 24 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ ก.ค.อ.หรือ ก.ค.อ.จังหวัด หรืออนุกรรมการที่ ก.ค.อ.หรือ ก.ค.อ.จังหวัดมอบหมายมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

มาตรา 25 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง และพัฒนาอาชีพขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบในงานธุรการของ ก.ค.อ.
(2) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง การพัฒนาอาชีพและการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(3) จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ
(4) ส่งเสริมอาชีพและจัดหางานให้แก่ผู้ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีตาม (3)
(5) รวบรวมผลการวิเคราะห์ วิจัย ดำเนินการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แผนงานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วรายงานผลให้ ก.ค.อ.ทราบ
(6) ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.อ.หรือตามที่ ก.ค.อ.มอบหมาย

มาตรา 26 มูลนิธิ สมาชม หรือสถาบันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ประสงค์จะจัดตั้ง
สถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี
การขออนุญาต และการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 27 เมื่ออธิบดีอนุญาตให้ตั้งสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแล้วให้ดำเนินการตามมาตรา 28
ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาต ให้ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 28 ให้อธิบดีกำหนดท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่จัดตั้งขึ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร อธิบดีอาจเปลี่ยนแปลงท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 29 เมื่อปรากฎว่ามูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 26 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้มูลนิธิ สมาคมหรือสถาบันดังกล่าวระงับการกระทำ ปรับปรุง แก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามคำสั่งแต่ไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าทำการแทนเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ และให้มูลนิธิ สมาชม หรือสถาบันอื่นนั้นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนี้
ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึง ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามที่อธิบดีกำหนด
ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ไม่อาจกระทำการตามวรรคสองได้ หรือแม้ว่าจะได้กระทำตามวรรคสองแล้วก็ตาม แต่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นนั้นก็ยังไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้เอง หรือถ้าจะให้ดำเนินการต่อไปอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่อยู่ในสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพดังกล่าว ให้เสนออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
ในกรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เป็นความผิดร้ายแรงที่อธิบดีเห็นว่าไม่สมควรสั่งการตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองเสียก่อน ก็ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้

มาตรา 30 มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 26 ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 29 มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีเป็นหนังสือภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และในระหว่างรอการวินิจฉัยของรัฐมนตรี ให้ดำเนินการต่อไปได้
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 31 ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 26 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีดำเนินการส่งผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปยังสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองหรือพัฒนาอาชีพอื่น
ในกรณีที่ส่งผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของมูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นต้องได้รับความยินยอมจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพนั้นด้วย

มาตรา 32 ในกรณีที่ต้องมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามมาตรา 5 หรือมาตรา 6 ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้กระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นไว้ต่างหากจากผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่น หรือจะขอให้กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้ดูแลผู้ถูกควบคุมตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนดก็ได้

มาตรา 33 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 หรือ มาตรา 6 เป็นบุคคลอายุยังไม่เกินสิบแปดปีและไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้พนักงานสอบสวนในกรณีที่ได้เปรียบเทียบคดีแล้ว แจ้งกรมประชาสงเคราะห์เพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบ
กรณีตามวรรคหนึ่งหากเป็นบุคคลอายุเกินกว่าสิบแปดปี ถ้าบุคคลนั้นประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบ

มาตรา 34 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือมาตรา 7 เป็นบุคคลอายุยังไม่เกินสิบแปดปี เมื่อศาลได้พิจารณาถึงประวัติความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นแล้วเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ แต่ควรให้ผู้กระทำความผิดได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ แทนการลงโทษ ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
กรณีตามวรรคหนึ่งหากเป็นบุคคลอายุกว่าสิบแปดปี ถ้าบุคคลนั้นประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ และศาลเห็นสมควรให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง และศาลเห็นสมควรให้ผู้กระทำความผิดรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพด้วย ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์รับตัวผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ผู้กระทำความผิดอยู่ในควบคุมของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
มิให้นับระยะเวลาที่ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดตามวรรคสามเข้าในกำหนดระยะเวลาที่อยู่ในความดูแลของสถานแรกรับ และระยะเวลาที่รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ
หลักเกณฑ์และวิธีการรับตัวผู้กระทำความผิดจากศาลเพื่อดำเนินการจัดส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับที่มีเขตรับผิดชอบให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.ค.อ.

มาตรา 35 ให้สถานแรกรับพิจารณาบุคลิกภาพ พื้นฐานการศึกษาอบรม สาเหตุการกระทำความผิดและทดสอบแนวถนัดแล้วพิจารณาจัดส่งตัวผู้อยู่ในความดูแลตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมเพื่อให้การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภายในระยะเวลาตามระเบียบที่ ก.ค.อ.กำหนดแต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่รับตัวผู้นั้นไว้
ภายใต้บังคับมาตรา 34 วรรคสาม ในกรณีที่สถานแรกรับพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งผู้นั้นไปรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ จะไม่ส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ค.อ. กำหนด

มาตรา 36 หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวบุคคลไปเพื่อรับการดูแลในสถานแรกรับตามมาตรา 33 และ มาตรา 34 และการส่งตัวไปเพื่อรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามมาตรา 35 ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ค.อ.กำหนด

มาตรา 37 ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพต้องอยู่รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามระเบียบที่ ก.ค.อ.กำหนดเป็นเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพรับตัวไว้

มาตรา 38 ในระหว่างที่รับการดูแลในสถานแรกรับหรือรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ถ้าผู้ใดหลบหนีออกนอกสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ออกติดตามตัวผู้นั้นเพื่อส่งตัวกลับไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพได้แล้วแต่กรณี ในการนี้สถานแรกรับ หรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพจะร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดำเนินการให้ด้วยก็ได้
เมื่อบุคคลใดได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพครบกำหนดเวลาแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพดำเนินการจัดส่งบุคคลนั้นกลับไปยังถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาของผู้นั้น เว้นแต่ ก.ค.อ.เห็นสมควรจะดำเนินการเป็นอย่างอื่น

มาตรา 39 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานบริการตามกำหมายว่าด้วยสถานบริการในเวลากลางวัน และกลางคืน เพื่อตรวจตราการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(2) นำผู้ถูกล่อลวง หรือถูกบังคับให้ทำการค้าประเวณี ซึ่งยินยอมให้นำตัวไปรับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้โดยให้นำความในมาตรา 33 มาใช้บังคับกับการส่งตัวผู้ค้าประเวณีไปรับการดูแลในสถานแรกรับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 40 ให้กรรมการ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 41 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 42 ในระหว่างที่ยังมิได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ให้กรมประชาสงเคราะห์มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 25

มาตรา 43 ให้สถานสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 เป็นสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ผู้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งยังคงรับการสงเคราะห์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพต่อไปจนกว่าจะครบระยะเวลาที่อธิบดีได้กำหนดไว้

มาตรา 44 บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 45 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายบรรหาร ศิลปอาชา
นายกรัฐมนตรี

————————————–
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ โดยที่พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ได้ประกาศใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทกำหนดโทษไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และโดยการที่การค้าประเวณีมีสาเหตุสำคัญมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม ผู้ทำการค้าประเวณีส่วนมากเป็นผู้ซึ่งด้อยสติปัญญาและการศึกษา สมควรลดโทษผู้กระทำการค้าประเวณี และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการให้การอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัดรักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตและในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการปราบปรามการค้าประเวณี และเพื่อคุ้มครองบุคคลโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อาจถูกล่อลวงหรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี สมควรกำหนดโทษบุคคลซึ่งกระทำชำเราโสเภณีเด็กในสถานการค้าประเวณี บุคคลซึ่งหารายได้จากการค้าประเวณีของเด็กและเยาวชนและบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการจัดหาผู้อยู่ในความปกครองไปเพื่อการค้าประเวณีกับให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเด็ก เพราะเหตุที่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อยู่ในความปกครองกระทำการค้าประเวณี นอกจากนั้นในปัจจุบันปรากฏว่าได้มีโฆษณาชักชวนหรือแนะนำตัวทางสื่อมวลชนในลักษณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณีกันอย่างแพร่หลาย สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้